วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ความรับผิดทางอาญา ในคดีตั๋วเงิน

ความรับผิดทางอาญา
ในคดีตั๋วเงิน

ปัจจุบันการทำธุรกิจ  หรือการรับชำระหนี้ต่าง ๆ  มักจะนิยมให้ชำระด้วยเช็ค เพราะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ต่างคิดว่าการยอมรับชำระหนี้ด้วยเช็คนั้นสะดวก  ปลอดภัยและยังได้รับความคุ้มครองทางอาญา  เพราะหากไม่ได้รับชำระหนี้ตามกำหนดก็จะดำเนินคดีทางอาญาแก่ลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค  จึงทำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งชั้นพนักงานตำรวจและศาลเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะคดีเช็ค  
         
บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินนั้น  เป็นกฎหมายที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ  ๓ เป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง  ได้ให้ความหมายของตั๋วเงินไว้ว่า
            ตั๋วเงิน  หมายถึง  ตราสารที่คู่สัญญาตกลงกันว่าให้มีค่าใช้แทนเงิน  หรือสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้สามารถโอนสิทธิให้แก่กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ  หรือส่งมอบการครอบครอง
          ตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  จึงหมายถึงตั๋วเพียง    ประเภทคือ  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  และเช็คเท่านั้น  นอกจากนี้แล้วยังมีตราสารอื่น ๆ  อีก  เช่น  เลตเตอร์ออฟเครดิต  ใบกำกับสินค้า  ใบประทวนสินค้า ใบตราส่ง  รับของคลังสินค้า  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  เป็นต้น  ตราสารเหล่านี้แม้จะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ตามกฎหมายก็ตาม  แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นตั๋วเงินตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
           
ลักษณะของตั๋วเงิน
            ตั๋วเงินเป็นสัญญา  คือผู้แสดงเจตนาต้องมีความสามารถตามกฎหมายวัตถุประสงค์ของสัญญาต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชน
            สัญญาตั๋วเงินผู้แสดงเจตนาต้องแสดงเจตนาเป็นหนังสือที่เรียกว่า  หนังสือตราสารโดยมีลักษณะเนื้อหาตามที่กฎหมายกำหนด[๑]
          .  วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาต้องเป็นเงินตรา  หมายถึงวัตถุแห่งหนี้ของคู่สัญญาตามตั๋วเงินต้องเป็นเงินเสมอ  จะเป็นการชำระหนี้ด้วยสิ่งอื่นหรือการกระทำ  การงดเว้นการกระทำไม่ได้
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๘๙๘  ได้กำหนดตั๋วเงินมีเพียง   ประเภท  คือ
                   ๑.  ตั๋วแลกเงิน  (Bill of Exchange)
                   ๒.  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  (Promissory note)
                   ๓.  เช็ค  (Cheque)

            ๑.  ตั๋วแลกเงิน  (Bill of Exchange )
          ตั๋วแลกเงิน  คือ  หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้สั่งจ่าย  สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จ่าย  ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน ดังนั้น ตั๋วแลกเงินจึงมีคู่สัญญา ๓ ฝ่าย คือ
                   (๑)  ผู้สั่งจ่าย
                   (๒)  ผู้จ่าย
                   (๓)  ผู้รับเงิน

            ๒.  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  (Promissory note)
          ตั๋วสัญญาใช้เงิน  คือ  หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ออกตั๋ว  ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  หรือให้ใช้เงินตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับเงิน  ดังนั้น  ตั๋วสัญญาใช้เงินจึงมีคู่สัญญา    ฝ่าย  คือ
                   (๑)  ผู้ออกตั๋ว
                   (๒)  ผู้รับเงิน

            ๓.  เช็ค  (Cheque)
          เช็ค  คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้สั่งจ่าย  สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน  ดังนั้นเช็คจึงมีคู่สัญญา    ฝ่าย  คือ
                   (๑)  ผู้สั่งจ่าย
                   (๒)  ผู้จ่าย  (ธนาคาร)
                   (๓)  ผู้รับเงิน
          ตั๋วเงินทั้ง    ประเภท  จะต้องมีการระบุว่าเป็นตั๋วเงินประเภทใด กล่าวคือ  ต้องมีคำบอกชื่อว่าเป็นตัวเงิน
            คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔/๒๔๙๘  โจทก์ขายสิทธิเรียกร้องเหรียญฮ่องกงให้จำเลยโดยโจทก์ออกตั๋วแสดงว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องจำนวนเงินเหรียญดังกล่าวจากอีกบริษัทหนึ่งและจำเลยสัญญาว่าจะจ่ายเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยน  เมื่อเอกสารนั้นไม่ระบุว่าเป็นตั๋วแลกเงินประเภทใด  และมีลักษณะให้เห็นว่าเปลี่ยนมือกันได้จึงไม่มีสภาพเป็นตั๋วเงิน

           


มาตรา  ๙๐๐  บุคคลใดลงลายมือชื่อในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
            ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงใดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้  ถึงแม้จะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม  ท่านว่าหาให้ผลเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่
            บทบัญญัติมาตรานี้เป็นเรื่องการรับผิดของผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินซึ่งต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงิน  ตั๋วเงินเป็นสัญญาพิเศษอย่างหนึ่งซึ่งบังคับว่าบุคคลที่ลงลายมือชื่อเข้าเป็นคู่สัญญาในฐานะใด  ฐานะหนึ่งจะต้องรับผิด
          บุคคล  หมายความรวมถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
          ลายมือชื่อ  หมายถึงลายเซ็นของตนเองเขียนเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริงหรือนามแฝงหรือชื่อยี่ห้อทางการค้าก็ได้  หรือจะไม่ใช่ชื่อของตนเอง  บุคคลที่ลงลายมือชื่อนั้นต้องรับผิด  เช่นนายแดงลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินโดยเขียนว่า  ดำ  ผู้สั่งจ่าย  เช่นนี้นายแดงก็ต้องรับผิดเพราะนายแดงเป็นผู้ลงลายมือชื่อ เป็นต้น

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๕๒๖/๒๕๒๒  แม้เช็คพิพาทจะมีตรายี่ห้อร้านของจำเลยประทับอยู่ก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย  คงมีผู้อื่นลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาท  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเช็คนั้น
         
            คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๐๗๐/๒๕๒๒  เช็คลงลายมือชื่อภริยา  จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย  แม้เป็นเช็คตามบัญชีเงินฝากของจำเลย  และภริยาจำเลยมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้  จำเลยไม่ต้องรับผิดตามเช็คและแม้หนี้เดิมเป็นเงินกู้โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือบังคับจำเลย

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๕๔/๒๕๒๓  จำเลยที่    ออกเช็คผู้ถือแม้จะใช้ชื่อในบัญชีธนาคารเป็นอย่างอื่นก็ตาม  แต่เมื่อได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คแล้ว  จำเลยที่    ก็ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น  และจะอ้างข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวผันกันเฉพาะตนกับจำเลยที่    ว่าจำเลยออกเช็คค้ำประกันต่อจำเลยที่    มาใช้ยันโจทก์ผู้ทรงเช็คหาได้ไม่
          สำหรับรายการอื่น ๆ  ในตั๋วเงินนอกจากลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว  บุคคลอื่นใดก็สามารถเขียนได้  เช่นรายการวันที่ที่ลงในเช็ค  จำนวนเงิน  ซึ่งหากข้อความถูกต้องตามกับเจตนาของผู้สั่งจ่ายแล้ว  ตั๋วเงินนั้นย่อมสมบูรณ์  (คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๕๑๒/๒๕๓๙)

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๑๙๑/๒๕๔๖  จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คโดย  ศ. เป็นผู้เขียนข้อความในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนแทน  เนื่องจากจำเลยอ้างวาลายมือไม่สวย  เมื่อ ศ.  เขียนรายการในเช็คตามที่จำเลยขอให้เขียนให้ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คแล้ว

          ความรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงลายมือชื่อ  บุคคลที่ลงลายมือชื่อนั้นต้องรับผิดในฐานะใดฐานะหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และรับผิดจำกัดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น  มิใช่จะต้องรับผิดเต็มจำนวนเท่า ๆ  กัน ซึ่งฐานะต่าง ๆ ของผู้ที่ลงลายมือชื่อ  มีดังนี้
            ๑.  ผู้สั่งจ่าย  ผู้สั่งจ่ายในฐานะเป็นผู้ลงลายมือชื่อคนแรกในตั๋วกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วและผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดเข้าผูกพัน  หากผู้ที่มีสิทธิรับเงินตามตั๋วไม่สามารถขึ้นเงินตามตั๋วได้ 
            ๒.  ผู้สลักหลังโอนตั๋ว  ผู้สลักหลังก็คือผู้ที่มีตั๋วไว้ในครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้รับเงินหรือที่เรียกว่า  ผู้ทรง  นั่นเองแต่เนื่องจากตั๋วเงินเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้จึงสามารถโอนต่อให้แก่กันได้ตามวิธีการของกฎหมาย  ดังนั้นหากผู้ที่มีชื่อในตั๋วต้องการโอนตั๋วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วต่อไปได้  ซึ่งการสลักหลังก็คือการลงลายมือชื่อผู้สลักหลังตั๋วจึงต้องมีความผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น  และยังต้องรับผิดชอบรับผิดตามที่ผูกพัน  นั่นคือ  ถือว่าผู้ลงลายมือชื่อได้สัญญาว่าหากตั๋วเงินนั้นไม่สามารถรับเงินได้  ผู้ลงลายมือชื่อจะใช้เงินให้กับผู้ทรง
            ๓.  ผู้รับรอง  ผู้ที่จะรับรองได้ตั๋วเงินได้ก็คือ  ผู้จ่าย  เท่านั้น ดังนั้นหากผู้จ่ายไม่ได้ลงชื่อรับรอง  ผู้จ่ายจึงไม่ต้องรับผิด  การลงลายมือชื่อของผู้จ่ายเราเรียกว่า  การรับรอง
            ๔.  ผู้รับอาวัล  หมายถึงผ้ที่เข้ามาทำให้ตั๋วมีค่ามากยิ่งขึ้น  หรืออาจกล่าวได้ว่า
การอาวัล  คือ  การเข้ามาค้ำประกันผู้ที่จะต้องรับผิดในตั๋วเงิน  แต่การอาวัลไม่ใช่การค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติไว้ในเรื่องการค้ำประกัน  ผู้รับอาวัลจะเป็นบุคคลที่ผูกพันในตั๋วหรือบุคคลภายนอกก็ได้
          การเข้ามาเป็นผู้รับอาวัล  จะต้องลงลายมือชื่อซึ่งอาจลงในด้านหน้าหรือด้านหลังของตั๋วก็ได้  เมื่อมีการลงลายมือชื่อแล้วย่อมต้องรับผิดตามที่ได้เข้ามาอาวัลไว้  จะรับผิดเท่าใดขึ้นอยู่กับว่าได้เขียนรับไว้เท่าใด  ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้กระทำได้  เช่น  อาวัลไว้เต็มจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วเงินหรืออาจอาวัลเพียงบางส่วน  เป็นต้น
             ผู้สอดเข้าแก้หน้  หมายถึงผู้ที่เข้ามาจ่ายเงินแทนผู้ที่จะถูกฟ้องไล่เบี้ยในตั๋วเงินเมื่อตั๋วเงินนั้นขาดความเชื่อถือแล้ว  ซึ่งตั๋วเงินจะขาดความเชื่อถือมีได้    กรณี  คือ
                    ๑)  ผู้จ่ายปฏิเสธไม่รับรอง เมื่อตั๋วเงินนั้นยังไม่ถึงกำหนดและมีการยื่นให้รับรอง
                    ๒)  ผู้จ่ายปฏิเสธไม่จ่าย  เมื่อตั๋วเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงินและมีการยื่นตั๋วเงินเพื่อให้จ่าย
          การสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินมีอยู่    วิธีคือการเข้ามารับรองเพื่อแก้หน้า  และการใช้เงินเพื่อแก้หน้า  จะเป็นวิธีใดก็ตามหากมีการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สอดเข้าแก้หน้า
          สำหรับการคำว่า  เครื่องหมาย  อย่างหนึ่งอย่างใด  เช่นแกงได (เครื่องหมายกากบาท)  หรือการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ  ไม่ถือเป็นลายมือชื่อ  แต่อย่างใดก็ตามหลักในการทำนิติกรรมหรือสัญญาทั่ว ๆ  ไป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๙  วรรคสอง  บัญญัติว่า  ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนลงลายมือชื่อหากมีพยานรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ
          และมาตรา    วรรคสาม  บัญญัติว่า  ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น  ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่  บทบัญญัติมาตรานี้  หมายความว่า  การพิมพ์นิ้วมือ  แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นซึ่งมีพยานรับรอง   คนนั้นกฎหมายให้ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อในรูปแบบสัญญาทั่ว ๆ  ไปใช้บังคับได้ เช่นการทำสัญญากู้ยืมเงิน  ผู้กู้เขียนหนังสือไม่ได้แต่ได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานรับรอง   คนก็ถือว่าผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อแล้ว  สัญญานี้สามารถบังคับได้  แต่ในกรณีดังกล่าวนี้จะนำมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วเงินไม่ได้  การลงลายมือชื่อในตั๋วนั้นนั้นจะต้องลงลายมือชื่อที่เขียนเป็นหนังสือได้

            สรุปลักษณะทั่วไปของตั๋วเงิน
          กฎหมายลักษณะตั๋วเงินได้แบ่งเป็น   ประเภท ได้แก่  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค  ซึ่งในแต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ  แต่กฎหมายก็กำหนดลักษณะทั่วไปของตั๋วเงินไว้ดังนี้
          ๑.  ข้อความในตั๋วเงิน  ตั๋วเงินเป็นตราสารที่ใช้แทนเงิน  มีลักษณะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้  สามารถโอนได้ตามกฎหมาย  มีสภาพการใช้ที่คล่องตัวเช่นเดียวกับเงินตราจึงมีการกำหนดรูปแบบของสัญญาตั๋วเงินไว้ในแต่ละประเภทโดยให้มีผลบังคับใช้ได้เฉพาะข้อความที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น  หากมีข้อความอื่นนอกจากที่กฎหมายระบุไว้ข้อความนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด[๒]  แต่ข้อความที่เกินจากที่กฎหมายกำหนดนั้น  ก็หามีผลทำให้ตั๋วเงินนั้นไม่สมบูรณ์หรือตกเป็นโมฆะ  แต่ก็ยังมีผลบังคับได้ตามข้อความที่ระบุไว้ในตั๋วเงิน

              ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินต้องรับผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๙๐๐  บัญญัติว่า  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว  กฎหมายได้กำหนดถึงบุคคลที่ต้องรับผิดเพราะได้ลงลายมือชื่อตามเนื้อความในตั๋วเงิน ไม่ว่าจะลงลายมือชื่อในฐานะที่เป็นผู้สั่งจ่าย  ผู้สลักหลังโอนตั๋ว  ผู้รับรอง  ผู้รับอาวัล  หรือผู้รับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้า  หรือธนาคารผู้รับรองเช็ค  ก็ตาม  หากลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจแล้วก็ต้องรับผิด

            คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๓๕๐/๒๕๔๘  หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดด้วย  เมื่อลงชื่อในเช็คจึงต้องร่วมรับผิดกับห้าง ฯ  ในฐานะผู้สั่งจ่าย

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๗๙๘/๒๕๔๔  แม้บริษัทจำเลยที่ ๑  จดทะเบียนโดยปรากฏข้อความในรายการเอกสารทะเบียนว่า ป. ผู้ตายเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑  ป.กับกรรมการอื่นอีก ๒  คน  ลงลายมือชื่อร่วมกันประทับตราของบริษัทจำเลยที่    ลงชื่อผูกพันจำเลยที่ ๑  ได้  แต่จำเลยที่ ๑  เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารตามเช็คโดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเฉพาะกรรมการอื่น    คน  โดยไม่ปรากฏตัวอย่างลายมือชื่อของ ป. ด้วย ป  จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คแทนจำเลยที่ ๑  การที่ ป .ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่มีอำนาจสั่งจ่ายแทนจำเลยที่ ๑  และมิได้ระบุว่าทำแทนจำเลยที่ ๑ แล้วนำเช็คพิพาทไปแลกกับเช็คซึ่ง ป. สั่งจ่ายแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ส่วนตัว ป. จึงต้องร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทเป็นการส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๙๐๐

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๗๘๘/๒๕๒๔  (ประชุมใหญ่)  จำเลยลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจ  ย่อมผูกพันตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง  ในอันที่จะต้องรับผิดอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่าย  เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค  จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้โจทก์

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๗๓๔/๒๕๑๕  ส. เอาเช็คซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของบัญชีเช็คมาเขียนสั่งจ่ายเงิน  ต่อมาโจทก์ผู้ทรงเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้เช่นนี้ ส. ผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามเนื้อความแห่งเช็คนั้น

          แต่หากบุคคลใดไม่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน  แม้จะมีข้อความว่าจะต้องรับผิดอย่างใดก็ตาม  บุคคลนั้นก็ไม่มีความรับผิดตามสัญญาตั๋วเงินไม่[๓]  การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินของบุคคลอาจเกิดด้วยเหตุ    ประการ  คือ
                   ๒.๑  บุคคลธรรมดาลงลายมือชื่อเพื่อตนเอง  หมายถึงการที่บุคคลธรรมดาแสดงเจตนาลงลายมือชื่อของตนบนตราสารด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น การแสดงเจตนาของตนเอง
          ข้อสังเกตผู้ลงลายมือชื่อต้องรับผิด
          (๑)  ตั๋วเงินเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ของนิติกรรมสัญญา คู่สัญญาจึงต้องมีความสามารถ  มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ไม่เป็นการกระทำที่สำคัญผิด  กลฉ้อฉล ข่มขู่  ซึ่งหากมีการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินโดยมีเหตุดังกล่าว ผู้ลงลายมือชื่อจึงไม่ต้องรับผิด
          (๒)  ต้องมีมูลหนี้  การออกตั๋วเงินเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้  ถ้าการออกตั๋วเงินไม่มีมูลหนี้  ผู้ออกตั๋วก็ไม่ต้องรับผิด  ทั้งในความผิดทางแพ่งและทางอาญา
            คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๕/๒๕๑๔  มีผู้ลักปากกามาขายให้โจทก์  โจทก์นำไปขายต่อให้จำเลยโดยจำเลยไม่รู้  และได้สั่งจ่ายเช็คชำระราคาให้โจทก์  ต่อมาตำรวจนำยึดปากกาจากจำเลยคืนให้เจ้าของ  ดังนี้  เป็นการรอนสิทธิจำเลย  โจทก์ผู้ขายต้องรับผิด  ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คจากจำเลย
         
(๓)  ผู้ที่มิได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินไม่ต้องรับผิดในเรื่องตั๋วเงิน  แต่อาจรับผิดในฐานะอื่น
          คำพิพากษาฎีกาที่  ๑/๒๕๑๑  นายจ้างยอมให้ลูกจ้างเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของนายจ้างในการออกตั๋วแลกเงินขายให้แก่บุคคลภายนอก นายจ้างต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกนั้น
          การลงลายมือชื่อนั้นจะอ่านออกหรือไม่นั้น  จะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่นหรือนามแฝงจะเป็นภาษาไทย  หรือภาษาต่างประเทศก็ตามจะเหมือนกับลายมือชื่อที่ให้ไว้กับธนาคารหรือไม่ก็ตาม แม้กระทั่งเป็นลายมือชื่อปลอม  ผู้ปลอมก็ต้องรับผิด  เพราะกฎหมายใช้คำว่าลงลายมือชื่อของตน  ไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได  ตราประทับ  หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น  ที่ทำในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว  ให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ[๔]  มาใช้บังคับกับการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินไม่ การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินต้องลงลายมือชื่อจริง ๆ  จะลงเครื่องหมาย  พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ  หรือตรายางประทับลงในตั๋วเงินก็ไม่มีผลทางกฎหมาย  เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๙๐๐ วรรคสอง  บัญญัติติว่า  ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่นแกงได  ลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้  ถึงแม้ว่าจะมีพยานรับรองก็ตาม  ท่านว่าหาเป็นผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่
          ๒.๒  บุคคลธรรมดาลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนนิติบุคคล  หมายถึงการแสดงเจตนาที่บุคคลธรรมดาแสดงเจตนาในนามของนิติบุคคลซึ่งตนเป็นผู้แทน  ตามกฎหมายถือว่าการแสดงเจตนานั้นเป็นการแสดงเจตนาของนิติบุคคล  ผู้แทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
          ๒.๓  การลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทน  สัญญาตั๋วเงินมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาเหมือนกับการแสดงเจตนาของสัญญาทั่วไป ๆ  ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการมอบอำนาจเช่นเดียวกัน  การลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน  จึงอาจลงในฐานะผู้รับมอบอำนาจแสดงเจตนาแทนเจ้าของนิติกรรมนั้น ๆ  การลงลายมือชื่อลักษณะเช่นนี้เป็นการลงลายมือชื่อในฐานะเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ  ผู้แทนจะต้องจดแจ้งแถลงไว้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกระทำการแทนบุคคลอื่น  บุคคลนั้นจึงไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น[๕]
         
คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๘๑๐/๒๕๔๗  จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ว. แต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีระบุว่ากระทำการแทนบริษัท ว. และมิได้ประทับตราของบริษัท ว. ในเช็คพิพาทด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะผู้แทนบริษัทดังกล่าว  จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทเป็นส่วนตัวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๙๐๐  วรรคหนึ่ง  ประกอบมาตรา  ๙๐๑

          คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๘๐๓/๒๕๔๗  จำเลย ๑  สั่งจ่ายเช็คระบุจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ ๒  หรือผู้ถือ  เมื่อจำเลยที่   สลักหลังโอนเช็คให้โจทก์  โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔  และจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบริษัท ท. ที่จำเลยที่ ๑  เป็นกรรมการผู้หนึ่งมีอำนาจกระทำแทนบริษัท ท  ทั้งเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ ๑  ด้วย  จำเลยที่ ๑  จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นเป็นการส่วนตัวตามมาตรา ๙๐๐ วรรคหนึ่ง  และ  ๙๐๑  เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารไม่ได้  จำเลยที่ ๑  จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา  ๙๐๔ประกอบมาตรา  ๙๘๙ วรรคหนึ่ง
          เราจะเห็นได้ว่าในหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดตั๋วเงิน  หมายถึง  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  และเช็ค  โดยที่ตั๋วเงินเป็นกฎหมายพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองที่จะกำหนดรายการต่าง   ที่ต้องมีอยู่ในตั๋วแต่ละประเภท  รายการในตั๋วแลกเงิน[๖]    ตั๋วสัญญาใช้เงิน[๗] และเช็ค[๘]  ก็มี่รายการที่ไม่แตกต่างกันออกไป  แต่สิ่งที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องความรับผิดของผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วนั้นแตกต่างกัน  นั่น  คือ  บุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็ค  หากกระทำผิดหรือมีเจตนาทุจริตนอกจากจะต้องรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในเรื่องตั๋วเงินนี้แล้ว  ยังคงต้องรับผิดในทางอาญาซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  พ.ศ.  ๒๕๓๔  อีกด้วย  พระราชบัญญัตินี้กำหนดลักษณะความผิดไว้  ดังนี้
          ๑.  มีการกำหนดตัวผู้กระทำความผิด  คือต้องเป็นผู้ออกเช็คหรือผู้สั่งจ่าย
          ๒.  ในการออกเช็คนั้น  จะต้องเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและหนี้นั้นต้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย
          ๓.  การออกเช็คนั้นต้องมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
                   ๓.๑  เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค
                   ๓.๒  ขณะออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชี
                   ๓.๓  ออกเช็คโดยให้ใช้เงินที่มีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี
                   ๓.๔  ถอนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนออกจากบัญชีจนเหลือไม่เพียงพอที่จะเงินตามเช็ค
                   ๓.๕  ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินโดยเจตนาทุจริต
          นอกจากนี้แล้วผู้ออกเช็ค  หากมีเจตนาทุจริต  หลอกลวงเอาเปรียบโดยเจตนาที่จะทำให้ผู้อื่นขาดความเป็นธรรมที่ควรได้  ยังมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง[๙]  อีกด้วย
         
จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจการค้า  การพาณิชย์  ผู้ที่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น หากสามารถชำระหนี้ในทันกำหนดที่ลงในเช็คก็จะไม่เกิดปัญหา  แต่หากเมื่อใดที่ไม่สามารถชำระเงินได้ทันตามกำหนด  ก็อาจทำให้บุคคลผู้มีเช็คไว้ในครอบครอง  หรือที่เราเรียกว่า ผู้ทรง  นั้น  สามารถดำเนินคดีทางอาญามาบังคับใช้ตามที่พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  ๒๕๓๔  ซึ่งบัญญัติไว้ให้ต้องรับผิด  จึงทำให้บุคคลที่ใช้เช็คจะต้องมีความระมัดระวังในการใช้เช็คมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามเช็คก็เป็นที่นิยมในธุรกิจหลาย ๆ  ด้าน  มีตั้งแต่การขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของบุคคลเพื่อที่จะได้มีเช็คไว้ใช้ในกิจการของตน  หรือธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่  ความรับผิดของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็ค  นอกจากจะต้องรับผิดในทางแพ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินแล้ว  ยังต้องรับผิดในทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอีกด้วย  ดังนั้น  บุคคลที่ได้รับเช็คไว้ในครอบครองหรือที่เรียกว่า ผู้ทรง นั้น อาจถือโอกาสใช้ความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้ต้องชำระหนี้ที่มาจากความรับผิดในทางแพ่ง  ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบของผู้ครอบครองเช็คที่จะได้รับชำระหนี้โดยใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง  ถ้าหากมีการชำระหนี้ทางแพ่งเป็นที่พอใจก็จะทำให้คดีอาญาระงับจะด้วยการถอนฟ้อง  หรือยอมความกันก็ตาม
          แต่ในทางกลับกันในวงการธุรกิจที่มีขนาดใหญ่  หรือธุรกิจระหว่างประเทศกลับนิยมใช้ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  โดยการใช้ธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นตัวกลางเชื่อม  ธุรกรรมที่ผู้ซื้อและผู้ขายขอให้ธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องในการชำระเงินคือ  สัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิต  หรือที่เราเรียกว่า  L/C  และในการทำสัญญานี้จะต้องมีการออกตั๋วแลกเงิน  ซึ่งจะเห็นได้ประเภทของตั๋วแลกเงิน  การใช้ตั๋วแลกเงิน  หรือเรียกเก็บเงินนั้น  จะไม่ต่างกับการใช้เช็ค
ตั๋วแลกเงินที่ทำขึ้นเพื่อเรียกเก็บเงิน  มีอยู่    ชนิด  คือ
๑.      ตั๋วแลกเงินเรียกเก็บเงินเมื่อได้เห็น  เป็นตั๋วระบุชื่อผู้สั่งจ่ายให้กับผู้ยื่น (ธนาคาร)
๒. ตั๋วแลกแลกเงินเรียกเก็บเงินเมื่อสินค้ามาถึง  เป็นการไม่แน่นอนว่าสินค้าจะมาถึงปลายทางเมื่อใด  ตั๋วชนิดนี้จึงไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอนไว้  จึงต้องรอให้สินค้ามาถึงจึงจะยื่นให้ชำระเงินได้
๓. ตั๋วแลกเงินเรียกเก็บเงินตามกำหนด  เป็นตั๋วที่กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้หลังจากผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้เห็นตั๋ว  หรือหลังจากวันที่ได้ลงในตั๋ว  สำหรับระยะเวลาจะนานเท่าใดขึ้นอยู่กับข้อตกลง

ในการทำสัญญาธุรกิจระหว่างประเทศจะนิยมการทำสัญญา  โดยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องมีการหาหลักประกันให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน  การมีหลักประกันก็มิได้หมายความว่าเกิดความมั่นคงกับคู่สัญญาเสมอไป  หรือจะไม่เกิดความเสียหาย  หรือสามารถชำระเงินได้ครบถ้วนทุกกรณีไป  เพราะหลักประกันอาจเกิดจากการหลีกเลี่ยง  การโกง  หรือมีเจตนาทุจริตขึ้นก็ได้ซึ่งมีปัญหาให้เห็นอยู่เสมอ  เช่น  หลักประกันที่เป็นที่ดิน  การประเมินราคาอาจไม่เป็นไปตามความเป็นจริง  ประเมินสูงกว่าที่เป็นจริง  จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดี  ในบางคดีที่มีการฟ้องร้องกันนั้น  มักมีทุนทรัพย์ค่อนข้างมาก  การดำเนินคดีของสัญญาดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่แล้วจะดำเนินคดีตามสัญญาในทางแพ่ง  ซึ่งอาจมีบางกรณีที่อาจจะเป็นความผิดทางอาญาว่าด้วยความผิดฐานฉ้อโกงมาเป็นบทบังคับ  หรือลงโทษผู้กระทำผิดหากมีเจตนาว่าทุจริต  หลอกลวง  อันเข้าลักษณะความผิดฐานฉ้อโกง

เมื่อพิจารณาความรับผิดทางอาญาของเช็ค กับตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้ได้เปรียบทางอาญาบีบบังคับผู้ออกเช็คให้ต้องชำระหนี้ตนก่อน  ทั้ง    ที่ความรับผิดมาจากการทำธุรกรรม  หรือการทำนิติกรรมสัญญา  อย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

บทสรุป  ในการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้ หรือเช็ค  ต่างก็ถือว่าบุคคลที่ลงลายมือชื่อย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความที่ลงในตั๋วนั้น ๆ  แล้ว  ซึ่งฐานะของบุคคลที่ต้องรับผิดก็บัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว  คือ  ผู้สั่งจ่าย  ผู้จ่ายผู้รับรอง  ผู้รับอาวัล  และผู้สอดเข้าแก้หน้า  หากผู้ที่ลงลายมือชื่อมีเจตนาทุจริต  แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นก็เป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงอันเป็นกฎหมายอาญาใช้บังคับอยู่  การที่มีพระราชบัญญัติด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งมีโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะเช็คเท่านั้น  จึงเป็นความแตกต่างของการรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้สั่งจ่ายของตั๋วแลกเงินและเช็ค  ทั้งที่ตั๋วเงินทั้ง ๓  ประเภท  คือ  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงิน  และเช็ค  ต่างมุ่งทำธุรกรรมในทางแพ่งทั้งสิ้น  ดังนั้นเพื่อความเสมอภาคในการทำธุรกรรมโดยการใช้ตั๋วแลกเงินก็ดี ตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี และเช็ค รัฐควรที่จะมีการยกเลิกความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการเช็คดังกล่าว  เพื่อให้การธุรกรรมของบุคคลหรือธุรกิจเป็นไปได้ด้วยความเสมอภาคกัน  และคุ้มครองลูกหนี้ที่จะไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องรับผิดทางแพ่งให้มารับผิดทางอาญา


            [๑] สัญญาตั๋วเงินต้องทำเป็นหนังสือตราสารและมีเนื้อความตามที่กฎหมายกำหนดหากมีรายการขาดตกบกพร่อง ตั๋วเงินนั้นย่อมไม่สมบูรณ์  เว้นแต่จะเป็นรายการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นการยกเว้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๙๑๐)
            [๒] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๘๙๙  ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้   ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน   ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
            [๓] คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๔๗๓/๒๕๑๖  แม้จำเลยที่ ๒  เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในมูลหนี้เดิม  แต่จำเลยที่  ๒ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์  ดังนั้นจำเลยที่ ๒  จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คนั้น
            [๔] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา    เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง  แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
            ลายพิมพ์นิ้วมือ  แกงได  ตราประทับ  หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้สองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
            ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น  ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
            [๕] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๙๐๑  บัญญัติว่า  ถ้าบุคคลใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน  และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น
[๖] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๙๐๙  บัญญัติว่า  อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้
๑.      คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
๒.    คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอน
๓.     ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย
๔.     วันถึงกำหนดใช้เงิน
๕.     สถานที่ใช้เงิน
๖.      ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
๗.     วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
๘.     ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

[๗] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๙๘๓  บัญญัติว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้
(๑)   คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
(๒)  คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓)  วันถึงกำหนดใช้เงิน
(๔)  สถานที่ใช้เงิน
(๕)  ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
(๖)  วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
(๗)  ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

[๘] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๙๘๘  บัญญัติว่า  อันเช็คนั้นต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
        (๑)  คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
        (๒)  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
        (๓)  ชื่อ  หรือยี่ห้อ  และสำนักของธนาคาร
        (๔)  ชื่อ  หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน  คือคำจดแจ้งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
        (๕)  สถานที่ใช้เงิน
        (๖)  วันและสถานที่ออกเช็ค
        (๗)  ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย         

[๙] ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๔๑  บัญญัติว่า  ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันครบอกให้แจ้ง  และผลจากการหลอกลวง  ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

1 ความคิดเห็น:

  1. Online Casino Site In South Africa - Lucky Club
    Get up to $300 in free chips or bonuses. Play online casino games for real money, such as blackjack, luckyclub.live roulette, blackjack, poker, slots,

    ตอบลบ