วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

การคุ้มครองผู้เสียหายเด็กกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา


การคุ้มครองผู้เสียหายเด็กกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
โดย พ.ต.อ.หญิง วิชาสิทธิ  สีหตุลานนท์
           
            (บทคัดย่อ)  การคุ้มครองสิทธิเด็กปัจจุบัน  มีกฎหมายบัญญัติ รองรับเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เช่น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  บัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนโดยมุ่งเน้นการค้นหาความจริงจากการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน  และคุ้มครอง  บำบัดแก้ไข  ฟื้นฟู  เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้  โดยมีองค์กรต่าง ๆ  เข้ามาร่วมดำเนินการ  เริ่มตั้งแต่พนักงานตำรวจ  อัยการ  ศาล  สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก  ตลอดจนสหวิชาชีพต่าง  ๆ  แต่ในทางกลับกันผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชน  กลับไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างจริงจัง  ทั้ง  ๆ  ที่เป็นผู้เสียหายทางอาญาด้านร่างกาย  จิตใจ  รวมทั้งอาจเสียหายทางสังคมอีกด้วย  กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเริ่มตั้งแต่พนักงานตำรวจ  พนักงานอัยการ  ศาล ก็มุ่งค้นหาความจริงจากผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด  ในบางความผิด  เช่น  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ยาเสพติด  การสอบปากคำ  การสอบสวนการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดทางจิตใจ  ทำร้ายเด็กและเยาวชนซ้ำสอง  หรือให้ความเป็นธรรมโดยการค้นหาความผิดทางพยานหลักฐาน  ดังนั้น  จึงควรที่จะมีการพิจารณาการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชนให้ได้รับความเป็นธรรม  คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550



รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550  นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะมีบทบัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ หรือของเอกชน ศาลยุติธรรม ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ยึดถือว่า ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก[1]
            เด็กถือว่ามีความสำคัญต่อสังคม มีผลต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเด็กจะเป็นผู้สืบต่อซึ่งเผ่าพันธุ์ เชื้อสาย และสังคมมนุษย์ โดยสังคมมนุษย์ต้องมีสังคม  วัฒนธรรม
การพัฒนาและเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้เห็นถึงความสำคัญของเด็กที่มีต่อสังคมไว้
อย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 10  ( 2550-2554 ) กำหนดพื้นฐานการเสริมสร้างคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพคนทุกมิติอย่างสมดุลทั้งทางจิตและร่างกาย  ความรู้  ความสามารถ  บทที่ 2   ข้อ 3 กำหนดแนวทางการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดีงามอยู่ในกรอบของศีลธรรม            มีจิตสำนึกสาธารณะ   และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ฉบับที่ 11                ( 2555 - 2559)  บทที่ 4  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต     อย่างยั่งยืน  ข้อ 5 แนวทางการพัฒนาเตรียมคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน ดังนั้น ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงมุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน  

ในศตวรรษที่ 2-3 สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งความเจริญทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommumication )  ทุกประเทศทั่วโลกมีการแข่งขันกัน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเป็นต้นเหตุให้เกิดสภาพการแข่งขันกันทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงทำให้เกิดช่องว่างขึ้นในระหว่างชนชั้นคนจนกับคนรวย ผลที่ตามมา  คือปัญหาสังคม   และปัญหาครอบครัว ความยากจนของคนในชนบท และความแออัดของคนในเมือง ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง  ปัญหาการว่างงานมีมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความเครียดในครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก  การก่ออาชญากรรมมีมากขึ้น เมื่อสังคมครอบครัวล่มสลาย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กจึงมีปริมาณมากขึ้น ทั้งด้านปริมาณและความรุนแรง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse)   เด็กถูกทำร้าย ( Abused) ไม่ว่าทางร่างกาย (Physical Abuse)   ทางจิตใจ (Emotional) ก็เพิ่มขึ้น  นอกจากเด็กจะเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเองแล้ว เด็กก็ยังถูกกระทำมากขึ้น ถ้าไม่มีนโยบายคุ้มครองเด็กที่เหมาะสมและจริงจัง ก็จะเปรียบเสมือนรัฐเป็นผู้กระทำซ้ำแก่เด็ก อันส่งผลให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child –C.R.C) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2532 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533   อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีหลักการสำคัญว่าเด็กทุกคนมีสิทธิต่าง ๆ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และประเทศสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การปกป้องคุ้มครอง   และส่งเสริมการใช้สิทธิของเด็กอย่างเต็มที่
ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 195 ประเทศ คงมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก คือ ประเทศโซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกเมื่อวันที่  27  มีนาคม 2535 โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 เป็นต้นมา

                สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน แต่เด็กเป็นกลุ่มชนที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความสามารถ สภาวะทางร่างกาย และสติปัญญาของเด็กไม่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ จึงต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเพื่อให้พัฒนาการและการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม ในประชาคมระหว่างประเทศเห็นความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2467   องค์การสันนิบาตชาติได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือที่เรียกว่า ปฏิญญาเจนีวา ( Declaration  of Geneva 1924) เมื่อมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( the Universal Declaration  of  Human  Rights ) เมื่อปี พ.ศ. 2491  ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 องค์การสหประชาชาติได้พัฒนาและประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (the United Nations Declaration on the Right of the Child 1959)    แต่ไม่มีผลผูกพันกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 สหประชาชาติจึงได้พัฒนาการคุ้มครองเด็กให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  (Convention on the Right of the Child 1989 )[2]         

ปัจจุบันถือว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความสำคัญยิ่งในการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ
1)           มุ่งที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก ( Protection) จากภยันตรายต่าง ๆ
2) ให้โอกาสแก่เด็กที่จะมีส่วนร่วม (Participation) ในการแก้ปัญหาของพวกเขาในทุก ๆ  เรื่อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่เด็กจะมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางตุลาการและทางการปกครอง ในลักษณะที่สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของกฎหมาย
3) ให้โอกาสเด็กได้รับการพัฒนา (Progress and Development) บุคลิกภาพอย่างเต็มที่ ในบรรยากาศแห่งความรักและความเข้าใจ

การคุ้มครองเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรับประกันอนาคตที่รุ่งเรืองของชาติ หากปล่อยให้เด็กถูกทำร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต่อไปจะเป็นเหตุให้รัฐขาดกำลังสำคัญเพื่อดูแลสังคม

มาตรฐานการคุ้มครองเด็ก คือ มาตรการทางกฎหมายซึ่งต้องพิจารณาควบคู่กับวิธีการปฏิบัติที่เป็นอยู่ และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ได้เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลรวมทั้งสิทธิเด็กด้วย ได้แก่ เด็กและเยาวชน  สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในกรดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม  และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีเกี่ยวกับความทารุณทางเพศ [3]

ปัจจุบัน  จะพบเสมอว่าเด็กและเยาวชนจะก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้นอยู่บ่อย ๆ  และจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  เริ่มตั้งแต่ตำรวจ  อัยการ  ศาล ราชทัณฑ์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน องค์กรต่าง ๆ นี้จะมุ่งเน้นการคุ้มครอง การบำบัดแก้ไขฟื้นฟูแก่เด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิด  โดยมีการแก้ไข  เพิ่มเติม  คิดวิเคราะห์ ทั้งด้านบทบัญญัติกฎหมาย  กำหนดให้มีหน่วยงานต่าง  ๆ  มาดูแล  มากกว่าการลงโทษดังเห็นได้จากการแก้ไขพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2555  ได้มีการบัญญัติมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา[4] ไว้เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด ให้กลับคืนสู่สังคมได้ดี
แต่ในทางกลับกันการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายเด็กในคดีอาญา เกิดจากปัญหาอาชญากรรมที่ได้กระทำต่อเด็กโดยเฉพาะการทารุณทางร่างกาย ทางจิตใจ ความผิดเกี่ยวกับเพศ และยาเสพติด ในบางความผิดอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ และยาเสพติด อาจกระทำในรูปขององค์กรอาชญากรรมและมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ การที่จะสอบสวนเด็กเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หรือการค้นหาความจริง จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีอุปสรรค มีการข่มขู่เด็ก  ทำให้เด็กหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะให้ถ้อยคำ  จึงเป็นปัญหาทำให้เด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่กล้าที่จะให้การสอบปากคำ หรือการสอบสวนอย่างถูกต้องเพื่อได้รับความเป็นธรรม  หากกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในอดีตที่ผ่านมา  ได้ให้ความสำคัญต่อ
การปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้กระทำความผิด      โดยมีหลักการคุ้มครองมุ่งเน้นการแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะเด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด กระบวนการที่จะค้นหาความจริงและการใช้มาตรการทางอาญามีหลักในการให้ความคุ้มครองมิให้ได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงและจิตใจในระหว่างที่มีการดำเนินคดีอาญา     กฎหมายของไทยประกอบด้วยองค์กรหลัก คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน มักจะมุ่งเน้นเฉพาะการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อใช้ในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา หรือจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น   นอกจากนี้หากผู้กระทำความผิดเป็นเด็กและเยาวชนก็ยังมีกฎหมายปกป้องให้ความคุ้มครองเป็นการเฉพาะตัวอีก  เช่น การคุ้มครองมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความที่ปรากฏในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในทางการพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุลของเด็ก หรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา โดยการทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู[5]  แต่ในกระบวนการ ยุติธรรมของไทยเราได้ละเลยการให้ความคุ้มครองต่อผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในคดีอาญามานาน ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำในที่เหมาะสม ประกอบกับให้มีสหวิชาชีพได้แก่  พนักงานสอบสวน  พนักงานอัยการ  นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมในการสอบปากคำด้วย[6]    เด็กเหล่านี้อาจได้รับความเสียหายต่อจิตใจหรือชื่อเสียง อันเกิดจากกระบวนการการดำเนินคดีอาญาที่มุ่งเน้นการค้นหาความจริงได้ให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาเท่านั้น แต่สภาพจิตใจของผู้เสียหายเด็กไม่ได้แตกต่างจากเด็กที่เป็นผู้ต้องหา โดยเฉพาะในความผิดเกี่ยวกับเพศ สภาพจิตใจของเด็กเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล คุ้มครองมากกว่าในกรณีอื่น ๆ หากมีการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมเหมือนคดีอาญาทั่วไป ๆ เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผู้เสียหายต้องเปิดเผยเรื่องทั้งหมด  รายละเอียดของการกระทำต่าง ๆ ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์   หรือนักจิตวิทยา เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่นี้อาจเป็นผู้ชาย เมื่อกระบวนการดำเนินการถึงชั้นศาล ผู้เสียหายอาจต้องเบิกความซ้ำอีก เด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบต่อจิตใจมากขึ้น เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ซ้ำเติมความเสียหายและความเจ็บปวดให้แก่ผู้เสียหายเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบสวนเพื่อรวบรวบพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ความชัดเจนทั้งในข้อเท็จจริง  การใช้ภาษาสื่อความหมาย การใช้คำถามที่มีลักษณะเป็นภาษากฎหมาย รายละเอียดเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อการตอบคำถามของผู้เสียหายเด็กทั้งสิ้น

            เมื่อพิจารณาการคุ้มครองผู้เสียหายจากสื่อต่าง ๆ  ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้เสียหายเด็กและเยาวชนจะถูกสื่อต่าง ๆ เผยแพร่สู่สาธารณเสมอ  แม้ครั้งอาจมีเพียงภาพที่เลือนลาง  หรือการปิดหน้าบางส่วนเท่านั้น มีการสัมภาษณ์  การเล่าเหตุการณ์ ทำให้ สาธารณชนอาจรู้จัก จำได้  รู้ชื่อตัว ประวัติของเด็กและเยาวชนในฐานะเป็นผู้เสียหาย  กรณีดังกล่าวนี้จะเป็นการซ้ำเติม หรือตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้เสียหายซ้ำสองหรือไม่ เพราะ กระบวนการยุติธรรมมุ่งคุ้มครองผู้ต้องหาเด็กหรือเยาวชนมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในทางการพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุลของเด็ก หรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 130  ที่บัญญัติคุ้มครองเฉพาะผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชน  เท่านั้น
           
            บทสรุป  กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยควรที่จะมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชนให้เท่าเทียมกับผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนเริ่มตั่งแต่กระบวนการการสอบปากคำ  การสอบสวน การถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ การพิจารณาคดี การบำบัดแก้ไขฟื้นฟู ตลอดจนการได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรต่าง ๆ  ที่มุ่งคุ้มครองเด็กเป็นกรณีพิเศษ
           
จากบทสรุป  เพื่อให้การคุ้มครองผู้เสียหายเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้รับความคุ้มครองอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เจตนาคุ้มครองเด็กและเยาวชนทกคนโดยเสมอภาค จึงเห็นควรดำเนินการ  ดังนี้
สำนักงานอัยการสูงสุด ควรกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการอย่างชัดเจน  โดยกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยการออกระเบียบปฏิบัติให้ชัดเจน  เพราะหากพนักงานอัยการมีบทบาทในการสอบสวน  รวบรวมพยานหลักฐาน ก็จะเป็นผู้ทราบว่าสำนวนคดีนั้นสมบูรณ์เรียบร้อย สมควรพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่  จะไม่มีอำนาจในการสั่งสอบเพิ่มเติมตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้ไว้  เพราะเป็นผู้สอบสวนตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เกิดความซ้ำซ้อน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ให้มีนักจิติทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายเด็ก ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ  เช่น  ความขาดแคลนบุคลากร  ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่  จึงควรเพิ่มอัตรากำลังนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับการอบรมสามารถเข้าใจจิตใจเด็กหรือเยาวชน เปิดโอกาสให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์โดยให้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่  หรือนักสังคมสงเคราะห์เจ้าของเรื่อง ช่วยกันสืบเสาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน  ตลอดจนเวลาปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ  นักจิตวิทยา  หรือสังคมสงเคราะห์  โดยให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร่วมในการสอบปากคำจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของพนักงานอัยการ และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์สามารถดำเนินการได้ในเวลาราชการ  ไม่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่
ข้อเสนอแนะนี้  จะช่วยให้เจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวการคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการปกป้อง  คุ้มครอง แก้ไข  ฟื้นฟู ให้กลับคืนสู่สังคมได้  และยังเสริมสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพต่อไป  ดังนั้นทุกหน่วยงานจึงควรมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยให้ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550





 

 

 

 

 

 

 


บรรณานุกรม

หนังสือ

กุลพล  พลวัน.  การบริหารกระบวนการยุติธรรม:  กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์
นิติธรรม , 2544.

กุลพล  พลวัน.  พัฒนาการสิทธิมนุษยชน กรุงเทพมหานคร  บริษัท  สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2538.

จันทร์เพ็ญ  ชูประภาวรรณ และคณะ .รายงานการทบทวนองค์ความรู้เรื่อง เด็ก เยาวชนและครอบครัวในประเทศไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการวิจัย : กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) , 2541.

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ , คำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ, เอกสารประกอบการสัมมนา โครงการทนายความอาสาสมัครเข้าฟังการถามคำให้การผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา เสนอที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัล , 1 กันยายน 2543.

เอกสารอื่น ๆ

จรัญ ภักดีธนากุล . วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิต ,ฉบับที่ 1 มกราคม มิถุนายน 2546.

ณรงค์เดช เดชคุ้ม. มาตรการคุ้มครองทางกฎหมายต่อเด็กและเยาวชนผู้ได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์ไทย : ศึกษากรณีเด็กและเยาวชนเป็นผู้เสียหายในคดี การศึกษาอิสระนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2546 .

บันทึกข้อความของกรมตำรวจ ที่ 0608.5/2545  เรื่อง กำชับการปฏิบัติและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการแถลงข่าวและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2531.

ณรงค์  ใจหาญ. บทบาทของนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ในการร่วมสอบปากคำเด็กในคดีอาญา คู่มือประกอบการฝึกอบรมการสอบปากคำและสืบพยานเด็ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข.

วันชัย รุจนวงศ์  สิทธิเด็ก   http  : www.djop.moj.go.th/arti.htm











           


    
        


[1] จรัญ   ภักดีธนากุล,  วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิต , ฉบับที่ 1      มกราคม มิถุนายน 2546 , หน้า 1.
[2] วันชัย รุจนวงศ์  สิทธิเด็ก   http  : www.djop.moj.go.th/arti.htm
[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550   มาตรา  40  (6 )
[4] พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553   มาตรา 86


[5] พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553   มาตรา 86

[6] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น